เปลี่ยนการแสดงผล

สรุปหลักการของการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) | 3290 

1. ความหมายของ Circumvention

Circumvention หรือ การหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD คือ การที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือ ผู้ประกอบสินค้า กระทำการด้วยวิธีต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องชำระอากร AD/CVD ที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดขึ้น

2. วิธีการหลบเลี่ยงมี 5 ประเภท ได้แก่

1) Slight modification หรือ การแก้ไขดัดแปลงสินค้าที่ถูกใช้ AD/CVD เพียงเล็กน้อย โดยที่ไม่มีผลต่อคุณสมบัติที่สำคัญของสินค้านั้น

2) Transshipment หรือ การส่งสินค้าที่ถูกใช้ AD/CVD ผ่านประเทศที่ไม่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD

3) Channelling หรือ การส่งสินค้าที่ถูกใช้ AD/CVD ผ่านผู้ส่งออกที่ไม่ถูกเรียกเก็บหรือถูกเรียกเก็บอากรในอัตราที่ต่ำกว่าอากรตนเอง

4) Completion หรือ การนำสินค้าที่ยังทำไม่สำเร็จมาทำให้สำเร็จเป็นสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD ในประเทศไทยหรือประเทศอื่นที่ไม่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD

5) Assembly operation หรือ การนำชิ้นส่วนของสินค้าที่ถูกใช้ AD/CVD ที่ผลิตจากประเทศที่ถูกไทยใช้มาตรการ AD/CVD มาประกอบเป็นสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD ในประเทศไทยหรือประเทศอื่นที่ไม่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD

3. องค์ประกอบของการหลบเลี่ยงฯ  การพิจารณาว่าจะใช้ AC หรือไม่ ต้องมีองค์ประกอบครบ 5 ประการ ดังนี้

1) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้า คือ การพิจารณาปริมาณนำเข้าสินค้า เช่น พิจารณาว่าปริมาณนำเข้าสินค้าที่ถูกใช้ AD/CVD ลดลงหรือไม่ และปริมาณนำเข้าสินค้าที่ถูกไต่สวน AC เพิ่มขึ้นหรือไม่

2) วิธีการหลบเลี่ยงฯ 1 ใน 5 ประเภท ได้แก่  (1) Slight modification  (2) Transshipment  (3) Channelling  (4) Completion และ (5) Assembly operation

3) การไม่มีเหตุอันควรหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจสนับสนุนอย่างเพียงพอ คือ การพิจารณาว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าที่เกิดจากการดำเนินการที่เป็นการหลบเลี่ยงประเภทต่างๆ มีเหตุผลมาจากอะไร เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและระบบลอจิสติกส์ หรือเป็นไปเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD เท่านั้น

4) การบั่นทอนผลการใช้บังคับมาตรการตอบโต้ในด้านของราคาหรือปริมาณ คือ การไต่สวน เพื่อพิจารณาว่า สินค้าที่ถูกไต่สวน AC ทำให้ประสิทธิภาพของการใช้มาตรการ AD/CVD ลดลงหรือไม่ เช่น   

   - ด้านราคา: พิจารณาว่า สินค้าที่ถูกไต่สวน AC มีการตัดราคาหรือไม่

  - ด้านปริมาณ: พิจารณาว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ถูกไต่สวน AC เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะหากมีการตัดราคาของสินค้าที่ถูกไต่สวนหรือมีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าอุตสาหกรรมภายในประเทศยังคงไม่ได้รับการเยียวยาตามวัตถุประสงค์ของมาตรการ AD/CVD

5) หลักฐานการทุ่มตลาด หรือหลักฐานการได้รับการอุดหนุน

    - ในกรณีของการหลบเลี่ยงมาตรการ AD: พิจารณาว่า สินค้าที่ถูกไต่สวน AC มีการทุ่มตลาดหรือไม่

   - ในกรณีของการหลบเลี่ยงมาตรการ CVD: พิจารณาว่าการได้รับประโยชน์จากการอุดหนุน              

     ของสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 

 

4. กระบวนการไต่สวน AC

1) ไต่สวนเฉพาะบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD ตามที่มีการระบุไว้ใน คำขอเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีรายชื่อถูกกล่าวหาจะไม่ถูกไต่สวนตามกระบวนการ

2) ระยะเวลาไต่สวน: 9 เดือน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันประกาศเปิดการไต่สวน

3) ในระหว่างการไต่สวน กรมศุลกากรจะจัดทำทะเบียนการนำเข้าสินค้าที่ถูกไต่สวน AC ตั้งแต่วันประกาศเปิดไต่สวน โดยไม่มีการเรียกเก็บหลักประกันอากร แต่หากไต่สวนพบว่ามีการหลบเลี่ยงฯ จะเรียกเก็บอากรย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีการจัดทำทะเบียนการนำเข้า

4) เจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ณ ที่ทำการบริษัท

5) ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายยังสามารถเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนและร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนได้ตลอดกระบวนการไต่สวน

5. ผลการไต่สวน

1) หากไต่สวนพบว่ามีการหลบเลี่ยงฯ: คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) จะมีคำวินิจฉัยให้ขยายการเรียกเก็บอากร AD/CVD ไปใช้กับสินค้าที่ไต่สวนแล้วพบว่ามีการหลบเลี่ยงฯ ในอัตรา  ไม่เกินอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD จากประเทศผู้ส่งออกในการไต่สวน AD/CVD เดิม

2) หากไต่สวนไม่พบว่ามีการหลบเลี่ยงฯ: ยุติการไต่สวน

6. วันมีผลบังคับใช้

กฎหมายมีผลใช้บังคับในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป โดยการดำเนินการใดๆ จะเริ่มขึ้นเมื่อมีผู้มายื่นคำขอให้มีการไต่สวน AC ก่อน โดยคณะกรรมการ ทตอ. จะเปิดไต่สวนเมื่อพิจารณาแล้วว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD


สรุปหลักการสำคัญ  
1. ต้องมีผู้ยื่นคำขอพร้อมแสดงหลักฐานต่างๆ เพื่อขอเปิดไต่สวน
2. คณะกรรมการจะวินิจฉัยให้เปิดไต่สวนเมื่อคำขอมีมูล
3. ไต่สวนเฉพาะสินค้าของบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD
4. ไม่มีการเก็บหลักประกันอากรในระหว่างการไต่สวน แต่จะลงทะเบียนการนำเข้าตั้งแต่วันประกาศเปิดไต่สวน และเรียกเก็บอากรย้อนหลัง 
5. หากพิสูจน์แล้วพบว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD จะเรียกเก็บอากรในอัตราไม่เกินอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD จากประเทศผู้ส่งออกในการไต่สวน AD/CVD เดิม ดังนั้น ไม่ใช่ทุกสินค้าจากทุกประเทศจะถูกเรียกเก็บอากรในอัตราเดียวกัน 

เอกสารแนบ