ความคืบหน้ามาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนของอียู | 452
ความคืบหน้ามาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนของอียู
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (EU) (Trade Measure to Environments and Climate Change: TMEC) ดังนี้
1. EU และออสเตรเลีย วางแผนจะเชื่อมตลาดซื้อขายคาร์บอน (Emission Trading Scheme: ETS) เข้าด้วยกัน : ขณะนี้ ทั้งออสเตรเลียและ EU เห็นว่าตลาด ETS เป็นมาตรการในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่ทั้งสองประเทศได้พยายามผลักดันให้ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนต่างๆ หันมาใช้ตลาด ETS เป็นเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีอีกด้วย อนึ่ง ออสเตรเลียคาดว่าจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Tax) ประมาณกลางปี 2555 และจะใช้ตลาด ETS เต็มรูปแบบในปี 2558
2. มาตรการเก็บค่าปล่อย CO2 กับสายการบินของ EU ไม่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ: ภายหลังจากองค์การการขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ (Air Transport Association of America: ATA) ฟ้อง EU เรื่องการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเก็บค่าปล่อย CO2 กับสายการบินของประเทศที่สามที่บินเข้าออกน่านฟ้า EU นั้น ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายของศาล EU (European Court of Justice: ECJ) ยืนยันว่ามาตรการดังกล่าววัดเป็นมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ใช้กลไกทางธุรกิจขับเคลื่อน โดยเก็บค่าธรรมเนียมที่คำนวณจากจำนวน GHG ที่ปล่อยเท่านั้น ไม่รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ หรือน้ำหนักของผู้โดยสารและสิ่งของบนเครื่อง นอกจากนี้ EU ETS มีผลบังคับใช้เฉพาะเที่ยวบินที่ขึ้นลงในเขตประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรปเท่านั้น (สมาชิก EU 27 ประเทศ รวมทั้งไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และลิกเตนสไตน์) นอกจากนี้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ไม่มีการระบุให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organisation: ICAO) เป็นองค์กรเดียวที่สามารถออกมาตรการลดหรือจำกัดการปล่อย CO2 ได้เท่านั้น
3. ทัศนคติของผู้บริโภค EU ต่อฉลากสิ่งแวดล้อม: จากการสัมมนาเรื่อง ‘How well behaved are you?’ ของบริษัท Kellogg ณ กรุงบรัสเซลส์ ที่ได้เชิญผู้แทนของEU บริษัทชั้นนำ และภาคประชาสังคมมาให้ความเห็นถึงแนวทางในการจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ “สินค้าที่ดีกว่า” พบว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภค EU มีความกังวลต่อปัญหาภาวะโลกร้อนและการดำเนินชีวิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น นอกจาก “ราคา” ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าแล้ว ผู้บริโภคยังคำนึงถึงภาพลักษณ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมของสินค้าด้วย แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่า “ฉลาก” เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริโภคบางรายอาจไม่เข้าใจข้อมูลในฉลากฯ ได้ทั้งหมด เพราะการให้ข้อมูลของฉลากฯ จะใช้ได้ผลกับผู้บริโภคที่มีการศึกษาและมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารเท่านั้น
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ผลิตสินค้าส่งออกของไทยควรส่งเสริมสร้างความตระหนักและมุ่งเน้นการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์
**************************
1. http://www.europolitics.info/external-policies/eu-and-canberra-discuss-linking-ets-art312000-44.html
2. http://news.thaieurope.net/content/view/3790/170/
3. http://www.euractiv.com/consumers/green-image-seen-key-future-business-success-news-506569 ตามลำดับ
เอกสารแนบ
TAGS