ช้าง | 4307
ขอบเขตการควบคุม
ช้างชนิดพันธุ์ Elephas maximus และให้หมายความรวมถึง น้ำเชื้อ เอ็มบริโอ ขน เนื้อ หนัง ฟัน งา ขนาย เล็บ กระดูก เลือด สารพันธุกรรม หรือส่วนต่างๆ ที่ได้จากช้าง ทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากส่วนต่างๆ ที่ได้มาจากช้างดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ต้องเป็นช้างที่จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณแล้วเท่านั้น
ระเบียบและหลักเกณฑ์
จะพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกช้าง 3 กรณี ดังนี้
1. การส่งช้างมีชีวิตตามความตกลงโครงการความร่วมมือวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย สรุปได้ดังนี้
(1) ผู้ขออนุญาตส่งออกต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้แก่
1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2) องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
3) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยแต่ละหน่วยงานสามารถส่งออกได้ 2 เชือกต่อปีปฏิทิน
(2) ต้องมีความตกลงโครงการความร่วมมือวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทยระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทย กับหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวต้องมีข้อความระบุให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศตกลงที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายไทยและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2. การส่งช้างมีชีวิตเพื่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ สรุปได้ดังนี้
(1) ผู้ขออนุญาตส่งออกต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้แก่
1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2) องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
3) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยแต่ละหน่วยงานสามารถส่งออกได้ 2 เชือกต่อปีปฏิทิน
(2) ต้องมีความตกลงเพื่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ โดยความตกลงดังกล่าวต้องมีรายละเอียดตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนด
3. การส่งส่วนต่าง ๆ ที่ได้มาจากช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากส่วนต่าง ๆ ที่ได้มาจากช้าง
3.1 เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางวิชาการ
(1) ขออนุญาตได้โดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งออกเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางวิชาการเท่านั้น โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในปริมาณเท่าที่จำเป็น
(2) ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
(2.1) สำเนาใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองให้นำเข้าช้างภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่ออกโดยประเทศผู้นำเข้า
(2.2) สำเนาเอกสารโครงการศึกษาวิจัยทางวิชาการที่ได้รับอนุญาตจากผู้รับผิดชอบโครงการแล้ว
(2.3) สำเนาตั๋วรูปพรรณช้างเจ้าของส่วนต่าง ๆ นั้น หรือหนังสือรับรองแหล่งที่มาของส่วนต่าง ๆ ที่ได้มาจากช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะ ตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ
3.2 เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ไม่มีวัตถุประสงค์ส่งออกในเชิงพาณิชย์ และให้ยื่นคำขอพร้อมใบอนุญาตส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักรที่ออกโดยกรมศิลปากร
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่สามารถส่งออกช้างได้ เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ชะลอการออกประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่กำหนด รายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งออกช้าง
กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป
กรมการค้าต่างประเทศ
มกราคม 2564
เอกสารแนบ