น้ำนมดิบและเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง | 8818
ขอบเขตการควบคุม
นมและครีมที่ไม่ทำให้เข้มข้นและไม่เติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่นๆ รวมทั้ง เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง
ระเบียบและหลักเกณฑ์
1. นำเข้าจากประเทศที่มิใช่สมาชิก WTO หรือภาคีแกตต์ 1947 : ต้องขออนุญาตนำเข้าโดยจะอนุญาต ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1.1 อนุญาตให้นำเข้าได้ โดยผู้นำเข้าจะต้องซื้อน้ำนมดิบภายในประเทศตามอัตราส่วนที่กำหนดและจะต้องแสดงหนังสือรับรองการซื้อน้ำนมดิบภายในประเทศจากองค์การส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย หรือกรมส่งเสริมสหกรณ์ประกอบการขออนุญาต (ปัจจุบันจะต้องซื้อน้ำนมดิบในประเทศไทยได้ในอัตรา 2 : 1 โดยน้ำหนักของปริมาณที่นำเข้า)
1.2 นำเข้ามาเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หรือเพื่อบริจาคสาธารณกุศล
2. นำเข้าจากประเทศสมาชิก WTO หรือภาคีแกตต์ 1947 : เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งมาจากประเทศสมาชิก WTO หรือภาคีแกตต์ 1947 ต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้ WTO และไม่ต้องขออนุญาตนำเข้า (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 111) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 26 มกราคม 2539 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 117) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539)
3. นำเข้าภายใต้ความตกลงไทย - ออสเตรเลีย : เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากออสเตรเลีย ตามความตกลงการค้าเสรี ไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามความตกลงฯ โดยไม่ต้องขออนุญาตนำเข้า ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้า และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบนำเข้า (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2547)
4. นำเข้าภายใต้ความตกลงไทย - นิวซีแลนด์ : เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากนิวซีแลนด์ ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนภายใต้ความตกลงฯ โดยไม่ต้องขออนุญาตนำเข้า ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้า และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบนำเข้า (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย - นิวซีแลนด์ พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2548)
5. นำเข้าภายใต้ความตกลงอาเซียน - จีน : เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีนตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ASEAN - China FTA) ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศ ซึ่งส่งออกสินค้านั้น และหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน และไม่ต้องขออนุญาตนำเข้า (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548)
6. นำเข้าภายใต้ความตกลงไทย - ญี่ปุ่น : เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากญี่ปุ่น ตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น และหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมด หรือบางส่วนได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการทางภาษี (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2550)
7. นำเข้าภายใต้ความตกลงอาเซียน - เกาหลี : เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐเกาหลีตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐเกาหลี ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบฟอร์ม เอเค (Form AK) และหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการทางภาษี (ตามประกาศกระทรวง พาณิชย์ เรื่อง การนำสินค้าที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลกเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2553)
8. นำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน : เฉพาะสินค้าที่ผลิตและส่งมาจากประเทศภาคีอาเซียน ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบฟอร์มดี (Form D) ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองดังกล่าวของประเทศที่ส่งออก หนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน ใบรับรองหรือเอกสารหลักฐานอื่นใดซึ่งแสดงว่าสินค้านั้นมีความปลอดภัย ต่อชีวิตหรือสุขภาพมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และใบรับรองว่าเป็นพืชที่ไม่ได้ตัดต่อสารพันธุกรรมหรือเอกสารหลักฐานอื่นใดซึ่งแสดงการรับรองว่าเป็นพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการทางภาษี (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำกาแฟ ชา น้ำนมดิบและนมพร้อมดื่มและนมผงขาดมันเนยเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2553)
9. นำเข้าภายใต้ความตกลงไทย-ชิลี : เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากชิลีตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form TC) ที่ออกโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลี และหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการทางภาษี (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเข้าสินค้าที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลกเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐชิลี พ.ศ. 2558
10. การรายงานการนำเข้า : ผู้ได้รับหนังสือรับรองต้องรายงานการนำเข้าต่อกรมการค้าต่างประเทศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำสินค้าเข้าแต่ละครั้ง โดยรายงานผ่านระบบรายงานการส่งออก - นำเข้าของกรมการค้าต่างประเทศที่เว็บไซต์ http://e-report.dft.go.th
กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป
กรมการค้าต่างประเทศ
มกราคม 2564
เอกสารแนบ